เมื่อวันที่ (2 พ.ค. 66) เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุม 1 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) คณะองคมนตรี ประกอบด้วย นายพลากร สุวรรณรัฐ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ นายจรัลธาดา กรรณสูต พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง ร่วมติดตามการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ซึ่งมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย/ผู้บัญชาการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2566 โดยมีพลอากาศเอก อิทธิศักดิ์ ศรีสังข์ ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ web conference ในการนี้ คณะองคมนตรีได้มีข้อห่วงใยและให้กำลังใจทุกหน่วยงานในการที่จะร่วมกันบูรณาการบริหารจัดการน้ำ เพื่อการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง และดูแลความปลอดภัยและชีวิตของประชาชน ตลอดจนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาจัดการแหล่งน้ำ เพื่อลดพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้ได้มากที่สุด รวมถึงขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถดูแลประชาชนและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยได้อย่างทันท่วงทีและครอบคลุมทุกมิติ
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย/ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งมาโดยตลอด โดยติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งปรับแนวทาง แผนเผชิญเหตุทั้งในภาพรวมและเฉพาะเหตุที่อาจเกิดขึ้นให้ครอบคลุมทุกด้านตามความเหมาะสมและสภาพพื้นที่ เพื่อมุ่งดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัยให้กลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว สำหรับการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2566 บกปภ.ช. ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานด้านพยากรณ์ พร้อมประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคม และมีแนวโน้มที่ฝนจะตกน้อยกว่าค่าปกติ รวมทั้งอาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่ประกอบกับปัจจุบันมีพื้นที่เกิดสถานการณ์ภัยแล้งและมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การประชุมในวันนี้จึงเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2566 เพื่อกำหนดแนวทางในการบูรณาการบริหารจัดการน้ำ และมาตรการในการป้องกันและลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง โดยมีการประสานข้อมูลจากหน่วยงาน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพยากรณ์ กลุ่มบริหารจัดการน้ำ และกลุ่มสนับสนุนการปฏิบัติการและให้ความช่วยเหลือ อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การประปา นครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม GISTDA กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม เพื่อให้สามารถคาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้าและแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดเก็บข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งจากพื้นที่จริงควบคู่กับการนำเทคโนโลยีมาในการวิเคราะห์และวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อเตรียมความพร้อมและสนับสนุนการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้งในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลและสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว
“สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งในระดับพื้นที่ บกปภ.ช. ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ให้สอดคล้องกับมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 ของรัฐบาล โดยเน้นย้ำการให้ความสำคัญกับการติดตามสถานการณ์ การบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ การสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน การจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร การเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลสาธารณภัยในการออกปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง รวมถึงสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งข้อมูลสถานการณ์น้ำ และมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ ควบคู่กับการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด และการเกษตรที่ใช้น้ำน้อย เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตขาดแคลนน้ำให้ได้มากที่สุด” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม