ปภ.เปิดเวทีสัมมนาเชิงวิชาการด้านการจัดการภัยพิบัติ “ในโอกาส 2 ทศวรรษ ปภ. เพื่อก้าวสู่ทศวรรษที่ 3” สร้างพลังเครือข่ายมุ่งสู่ทศวรรษใหม่ของการจัดการสาธารณภัยที่ยั่งยืน
วานนี้ (4 สิงหาคม 2565) เวลา 10.15 น. ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาเชิงวิชาการด้านการจัดการสาธารณภัย “ในโอกาส 2 ทศวรรษ ปภ. เพื่อก้าวสู่ทศวรรษที่ 3” (DDPM’s efforts to achieve a safe and sustainable disaster management in forthcoming decade) ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดขึ้น เพื่อเป็นเวทีความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการสาธารณภัยเชิงรุกของประเทศ โดยมีนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายชัยณรงค์ วาสนะสมสิทธิ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย นายบรรจบ จันทรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายสมเกียรติ ถนอมกิตติ รองอธิบดีกรมที่ดิน นายสักรินทร์ อินทรสถิตย์ ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง นายสรสาสน์ สีเพ็ง ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายนิกม์ แสงศิรินาริน ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร นายสมชาย อัศวินเรืองชัย นางโสภาพรรณ ตันติภนา เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการจัดการภัยพิบัติ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา รวมกว่า 500 คน เข้าร่วมการสัมมนาฯ โอกาสนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้กล่าวปาฐกถา (เทป) หัวข้อ “การก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปภ.” ในงานสัมมนาครั้งนี้ด้วย
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานพิธีเปิดงานสัมมนาเชิงวิชาการด้านการจัดการสาธารณภัย “2 ทศวรรษ ปภ. เพื่อก้าวสู่ทศวรรษที่ 3” และปาฐกถา หัวข้อ “แนวโน้มการจัดการสาธารณภัยมุ่งสู่ทศวรรษที่ 3” ว่า ปัจจุบันเราจะเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าสาธารณภัยนั้นเป็นประเด็นท้าทายอย่างยิ่งของประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มการเกิดที่รวดเร็วและรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจจะนับได้ว่าเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต จึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนและทุกมิติจะต้องร่วมมือร่วมใจกันเตรียมความพร้อมการจัดการสาธารณภัยเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้น เป็นที่ทราบกันดีกว่าการจัดการสาธารณภัยนั้นไม่สามารถดำเนินการได้เพียงหน่วยงานเดียว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. ในฐานะหน่วยงานกลางของรัฐในดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ และสื่อมวลชน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการสาธารณภัย เพราะภัยพิบัติเกิดขึ้นในพื้นที่ ท้องถิ่นจึงเป็นกลไกแรกในการเข้าไปบริหารจัดการสาธารณภัยระดับพื้นที่ ดังนั้น การจัดการสาธารณภัยของประเทศที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพนั้นเราจะต้องให้ความสำคัญและสร้างความเข้มแข็งในการการบริหารจัดการสาธารณภัยตามวงจรการลดความเสี่ยงสาธารณภัยที่ครอบคลุมทั้งการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย การจัดการในภาวะฉุกเฉิน และการฟื้นฟูบูรณะที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องแสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถจัดการสาธารณภัยที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ขอแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบสองทศวรรษของการจัดตั้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของรัฐที่มุ่งมั่นแน่วแน่ในการบูรณาการการจัดการสาธารณภัยบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนมาโดยตลอด หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการก้าวเดินไปสู่ทศวรรษที่ 3 ของการจัดการสาธารณภัย จะต้องเป็นการขับเคลื่อนด้วยการร่วมแรง ร่วมใจและสานพลังของทุกภาคส่วนในสังคม โดยเริ่มต้นจากพลังท้องที่และท้องถิ่นบูรณาการในการมุ่งไปสู่การสร้างพลังแห่งการจัดการสาธารณภัยร่วมกัน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการสร้างประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยจากสาธารณภัยอย่างยั่งยืน
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ปาฐกถา (เทป) หัวข้อ “การก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปภ.” ว่า การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศเราถือว่าดำเนินการได้ดีในระดับหนึ่ง ทั้งในด้านนโยบายและการเชื่อมโยงไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม หากสามารถเพิ่มศักยภาพในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในทุกมิติได้ ก็จะทำให้สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชน และสร้างความปลอดภัยจากสาธารณภัยอย่างยั่งยืนได้ การบริหารจัดการสาธารณภัยตามนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ และกรอบของ UN จึงต้องมุ่งเน้นการลดความเสี่ยงภัยในทุกมิติและการเตรียมพร้อมในทุกระดับอย่างเข้มแข็ง ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต้องสามารถบูรณาการเชื่อมโยงการปฏิบัติงานบนพื้นฐานของกฎหมายและแผนเดียวกันได้อย่างเป็นระบบ เพื่อเสริมให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการจัดการสาธารณภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในฐานะหน่วยงานกลางของรัฐในการดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ ได้บูรณาการบริหารจัดการสาธารณภัยตามกรอบและทิศทางการปฏิบัติงานด้านการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศครอบคลุมในทุกมิติและ ทุกระดับอย่างเป็นระบบ มุ่งเน้นการเป็นเอกภาพและทำงานแบบเสริมกำลังกัน โดยตลอดระยะเวลา 20 ปี ของ ปภ. ได้ผลักดันการบูรณาการด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติให้แก่หน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง งานสัมมนาที่ได้จัดขึ้นในวันนี้ เป็นการส่งเสริมแนวคิดการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและนำไปสู่การเตรียมพร้อมบริหารจัดการสาธารณภัยเชิงรุก โดยมุ่งหวังให้เป็นเวทีเผยแพร่องค์ความรู้ แนวคิดทางวิชาการ และผลการดำเนินงานด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ร่วมกันระหว่าง ปภ. และหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการจัดการภัยพิบัติ รวมถึงยังเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นการจัดภัยพิบัติในมิติต่างๆ กับนักวิชาการที่มากประสบการณ์ในหลากหลายสาขาวิชาชีพ และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติของประเทศ เพื่อนำไปสู่การบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ